ชายขายไข่ กับคุณนายลูกค้า

“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” เป็นภาษิตที่ยังเกิดขึ้นและพบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ขายของราคาถูกริมทาง ทั้งแดดร้อน ความเหนื่อยเมื่อล้า แลกกับกำไร 5 บาท 10 บาท แต่ร้านค้าเหล่านี้มักจะถูกต่อรองราคาอยู่เสมอ และมักจะเป็นคนมีเงิน มีกำลังซื้อเสียด้วยที่ชอบเอาเปรียบ แต่เมื่อเดินเข้าห้างกลับจ่ายเงินหลักพันหลักหมื่นได้อย่างไม่นึกเสียดาย เพียงเพื่อรักษาหน้าตา

ดังเช่นเรื่องราวที่เราหยิบยกมาเป็นอุทาหรณ์และข้อคิดให้กับทุกคนในวันนี้ บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ตรง อาจจะเปลี่ยนความคิดของคุณไปตลอดกาล เป็นเรื่องราวระหว่าง คุณนาย กับ ชายชราขายไข่ เรื่องมีอยู่ว่า…

คุณนาย : ฉันต้องการซื้อไข่ 6 ฟอง ลดเหลือ 25 บาทได้ไหม (ซึ่งราคาขายจริงอยู่ที่ 30 บาท)

ชายชราตอบว่า อยากซื้อเท่าไรอยากจ่ายเท่าไรก็แล้วแต่คุณนายจะสะดวก นี่อาจจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของผมก็ได้ เพราะตั้งแต่เช้า ยังขายไข่ไม่ได้เลย

คุณนายเดินกระหยิ่มยิ้มย่องหิ้วไข่ 6 ฟอง ไปขึ้นรถเก๋งที่มีเพื่อนๆ นั่งรออยู่ ด้วยความถูกใจที่สามารถซื้อไข่ได้ในราคาถูกกว่าที่พ่อค้าขาย

หลังจากนั้นคุณนายและผองเพื่อน พากันไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง สั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ และกินกันอย่างเพลิดเพลิน แต่กินไม่หมด ยังเหลืออีกมากมายเยอะแยะ

เมื่ออิ่มหน่ำจึงเรียกพนักงานมาเก็บเงิน ราคาทั้งหมด 1,400 บาท คุณนายยื่นเงินจ่ายไป 1,500 แถมบอกว่า “ไม่ต้องทอนนะคะ”

เงิน 100 บาท มันธรรมดามากสำหรับเจ้าของภัตตาคาร

แต่สำหรับพ่อค้าไข่ชรา กว่าจะได้ 100 บาท มันอาจจะเป็นความเจ็บปวดของเขาก็ได้

ประเด็นสำคัญ คือว่า ทำไมเราจึงรู้สึกพอใจ เวลาที่สามารถต่อรองราคาเวลาซื้อของจากพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นชาวบ้านผู้ซึ่งมีความลำบาก บางคนมักจะต่อรอง

เราจะเป็นสุขมากเมื่อต่อราคาได้ถูกกว่าราคาที่เขาขายแม้เพียง 10 บาท 20 บาท แต่ทำไมเราไม่เคยต่อรอง และยินดีจ่ายให้กับราคาสินค้าราคาแพงๆ ที่วางขายในห้าง ในร้านใหญ่โตที่เขาโก่งราคาไว้เรียบร้อยหมดแล้ว

พ่อของผม ชอบซื้อของจากคนจนๆ และให้ราคาสูงเกินไปจากที่เขาตั้ง ทั้งที่บางทีพ่อไม่ได้ต้องการสินค้าเหล่านั้น

พ่ออาจจะต้องการช่วยเหลือพวกเขาเพื่อนำไปใช้เลี้ยงครอบครัวเขาก็ได้ คล้ายกับเป็ฯการช่วยเขาโดยไม่ลดศักดิ์หรือคุณค่าของอีกฝ่ายลง

ผมเคยถามพ่อดูว่าทำไมพ่อทำแบบนั้น พ่อตอบว่า “มันเป็นการทำบุญ ที่มีคุณค่ามากนะลูก”